กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทยสำรวจสุขภาพใจ ผ่านคิวอาร์โค้ด Mental Health Check In พร้อมเผยวิธีรักษาสัมพันธภาพ สนทนาอย่างมีสติและสร้างสรรค์ เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง

11 พฤษภาคม 2566
 ประเภท : ข่าวประชาสัมพันธ์
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง

กรมสุขภาพจิต ชวนคนไทยสำรวจสุขภาพใจ ผ่านคิวอาร์โค้ด Mental Health Check In พร้อมเผยวิธีรักษาสัมพันธภาพ สนทนาอย่างมีสติและสร้างสรรค์ เปิดใจรับฟังความเห็นต่าง ✨
กรมสุขภาพจิต ชี้ประชาชนสนใจติดตามข่าวสารการเลือกตั้งใกล้ชิด ความตื่นตัวและมีส่วนร่วมการเลือกตั้งครั้งนี้ จัดว่าเป็นพลังประชาชนขับเคลื่อนประเทศชาติ อันเป็นการแสดงออกซึ่งประชาธิปไตย เป็นความเครียดที่สร้างสรรค์ ทว่าบางรายอาจกระทบการพักผ่อน จนมีอาการทางกาย จิตใจ และอารมณ์ ทำให้มีปัญหาสัมพันธภาพต่อผู้อื่นได้ แนะการสื่อสาร เปิดใจรับฟัง ยอมรับความแตกต่าง เอาใจเขาใส่ใจเราในมุมมองที่เคารพสิทธิผู้อื่น สนทนาอย่างมีสติ ไม่กระตุ้นความเครียด ก้าวร้าว เกลียดชัง เพื่อป้องกันปัญหาความรุนแรงจากความเห็นต่าง หากพบความเครียดในระดับที่น่าเป็นห่วง สามารถสำรวจสุขภาพใจตนเองผ่านไลน์แอปพลิเคชัน คิวอาร์โค้ด Mental Health Check In (MHCI) เพื่อรู้เท่าทันสัญญาณความเสี่ยงภาวะสุขภาพจิต และเรียนรู้คำแนะนำการดูแลตัวเอง การใช้เวลาเสพข่าวอย่างเหมาะสม และการสื่อสารเชิงบวกอย่างสร้างสรรค์ได้
พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ขณะนี้เป็นช่วงเวลาสำคัญยิ่งที่ประชาชนกำลังให้ความสนใจเป็นอย่างมาก สะท้อนได้จากสถานการณ์กระแสข่าวการเลือกตั้ง ส.ส. ตลอดทั้งวัน กรมสุขภาพจิต เผยผลสำรวจสุขภาพใจด้วยตนเอง ผ่านทางไลน์แอปพลิเคชัน Mental Health Check In (MHCI) โดยแบ่งช่วงผลสำรวจเพื่อประเมินแนวโน้มรายเดือน ตั้งแต่ ธ.ค.64 ถึงปัจจุบัน พบว่า สถานการณ์สุขภาพจิตของประชาชนมีแนวโน้มเครียดเพิ่มขึ้นหลังจากวันที่ 20 มี.ค.66 อยู่ที่ระดับ 2.17 เป็นความเครียดที่ระดับ 3.07 เมื่อวันที่ 8 พ.ค.66 จากฐานกลุ่มตัวอย่าง จำนวน 127,009 คน โดยบรรยากาศการเลือกตั้งในปีนี้มีความคึกคักอย่างมาก ประชาชนส่วนใหญ่ตื่นตัว ชุมชนมีการตื่นรู้การเมือง เป็นโอกาสของสังคมไทยในการพัฒนาบ้านเมืองอย่างสร้างสรรค์ ทำให้การสนทนาและสื่อสารบนโลกออนไลน์หลีกเลี่ยงเรื่องการเมืองได้ยาก ทั้งในประเด็นนโยบายของพรรคการเมือง และคุณสมบัติที่น่าสนใจของผู้ลงสมัคร โดยมีข้อสังเกตได้ว่า ประเด็นเหล่านี้อาจเร้าความเห็นที่แตกต่างในแต่ละวงสนทนาได้มาก ดังนั้น ทุกฝ่ายจึงควรรับฟังกันและกันอย่างมีสติ เคารพการแสดงความคิดเห็นที่แตกต่าง ใคร่ครวญวิเคราะห์ความน่าเชื่อถือจากข่าวสารที่ได้รับ เพื่อให้สามารถแลกเปลี่ยนข้อคิดและมุมมองให้เกิดประโยชน์ พยายามลดการแสดงความเห็นลักษณะตำหนิขัดแย้งเพื่อเอาชนะคู่สนทนา ซึ่งจะทำให้เกิดประโยชน์ต่อทั้งพัฒนาการของการเมือง และสัมพันธภาพในครอบครัวหรือกลุ่มเพื่อนฝูงด้วย
พญ.อบุญศิริ จันศิริมงคล นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมสุขภาพจิต กล่าวต่ออีกว่า ขอให้ประชาชนใส่ใจกันและกัน พยายามใช้ถ้อยคำที่สุภาพในการสนทนา ระวังการดูถูกเหยียดหยามผู้ที่สนทนาด้วย รับฟังและระงับอารมณ์ให้สงบเมื่อได้ยินถ้อยคำที่รุนแรง รวมทั้งสังเกตอากัปกิริยาของผู้ที่จะสนทนาว่ามีอารมณ์ฉุนเฉียวหรืออยู่ในอารมณ์ที่ไม่สามารถควบคุมสติ เช่น กำลังดื่มสุรา เป็นต้น ที่อาจจะนำไปสู่การถกเถียง ทะเลาะวิวาทได้ นอกจากนี้ ยังสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วยการชื่นชมคู่สนทนาในการแสดงออกที่เหมาะสม สุภาพ มีเหตุผล เคารพผู้อื่น พร้อมนี้ ขอแนะนำประชาชนให้แบ่งเวลาติดตามข่าวสารบ้านเมืองอย่างพอดี ไม่นำเรื่องของการเลือกตั้งมาใช้ในการพนันหรือเดิมพัน เพราะจะยิ่งทำให้เครียดมากขึ้น และเกิดปัญหาอื่นตามมา หากพบว่ามีความเครียดจนเกิดอาการปวดหัว หัวใจเต้นแรง เกรี้ยวกราด เหงื่อแตก หรือมีการเกร็งกล้ามเนื้อ ควรตั้งสติและยุติการสนทนา แยกตัวมาสงบใจ จัดการอารมณ์ตนเองก่อน เพื่อไม่ให้อารมณ์ด้านลบส่งผลกระทบทั้งต่อตนเองและผู้อื่นได้ อีกทั้งยังควรดูแลตนเองให้นอนหลับพักผ่อนเพียงพอ ทำกิจวัตรประจำวันให้เป็นปกติ และมีกิจกรรมผ่อนคลายความเครียดตามสมควร
กรมสุขภาพจิต ขอให้ประชาชนมีสติ ติดตามข่าวสารการเลือกตั้งอย่างสร้างสรรค์ แต่หากรู้สึกเครียด สามารถสำรวจสุขภาพใจด้วย MHCI และปรึกษาสถานบริการสาธารณสุขที่อยู่ใกล้บ้าน หรือโทรปรึกษาสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อการดูแลที่เหมาะสม
กรมสุขภาพจิต : ข่าว/ภาพ

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!